
ดร.ศศวลัยย์ ต้นสกุลทวีทีม นักวิชาการด้านการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้จากการส่งออกมากกว่า 800,000 ล้านบาท หากสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยสูงถึง 37% ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มสินค้าเป้าหมายหลัก เช่น สินค้าทุน เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและพลาสติก อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูงในตลาดโลก
สินค้าไทยกลุ่มดังกล่าวมีดัชนี RCA (Revealed Comparative Advantage) สูง เช่น กลุ่มยางและพลาสติกที่มี RCA สูงถึง 2.47, กลุ่มเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ RCA 1.57 และสินค้าทุน RCA 1.54 ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกของไทย แต่หากกำแพงภาษีถูกยกระดับ สินค้าไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และอาจถูกแทนที่ด้วยสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และเม็กซิโก
ดร.ศศวลัยย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผลกระทบนี้จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออก ทำให้เกิดการลดการผลิต การเลิกจ้างแรงงาน และการชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของ GDP และความผันผวนของค่าเงินบาทในตลาดการเงิน
แม้ว่าประเทศไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ BRICS ได้แก่ จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ แต่ตลาดดังกล่าวยังไม่สามารถทดแทนตลาดสหรัฐฯ ได้ในทันที เนื่องจากตลาด BRICS มีข้อจำกัดด้านภาษีซับซ้อน ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงอำนาจซื้อที่ต่ำกว่า
“รัฐบาลไทยจึงควรเร่งวางยุทธศาสตร์การเจาะตลาด BRICS อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาคเอกชนด้านการเงิน โลจิสติกส์ และการเจรจาข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และสร้างความยั่งยืนให้กับการส่งออกของไทยในระยะยาว” ดร.ศศวลัยย์ กล่าว